ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีการเติบโตขึ้นมากกว่า 50%
ปัจจุบันธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งยุค 4.0 เพราะบรรดากูรูได้จัดอันดับให้ติดโผ 1 ใน 5 ดาวรุ่ง ปี 2561 สาเหตุเพราะตลาดนำเข้า-ส่งออก การค้าชายแดน และอี-คอมเมิร์ซ เติบโตขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมวงชิงเค้กก้อนโตกันอย่างคับคั่ง
RTN Logistics ถือเป็นบริษัทของคนไทยแท้ 100% ที่อยู่เคียงคู่กับธุรกิจการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกแบบครบวงจร มานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันได้เปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ Generation Logistics ที่ 2 โดยได้ “จุฑานุช ชุมมานนท์” มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัท อาร์ ที เอ็น โลจิสติกส์ จำกัด
“จุฑานุช” เปิดเผยว่า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2561 นี้ จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีการเติบโตขึ้นมากกว่า 50% ตามเขตชายแดน เนื่องจากภาครัฐได้สนับสนุนให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษตามเขตชายแดนต่างๆ ส่วนภาพรวมการขนส่งทั้งหมดอาจจะโตขึ้นเพียง 5%
“ธุรกิจขนส่งในประเทศค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้ว ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจขนส่งไปยังชาติอาเซียนที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากกลุ่มลูกค้าที่นำเข้า-ส่งออกสินค้าในพื้นที่ด่านชายแดนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากถึง 50% และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (ฮับ) โดยนำสินค้ามาพักไว้คลังสินค้าที่ประเทศไทยแล้วค่อยส่งต่อไปยังชาติอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกวางไทยเป็นฮับขนส่งอาเซียน”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการนำเข้าและส่งออกสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมทั้งยังมีบริการคลังสินค้าสำหรับลูกค้าที่ต้องการพักสินค้าไว้ก่อนการจัดส่ง มีบริการรถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ รวมไปถึงบริการจัดส่งสินค้าไปถึงโรงงานลูกค้า โดยบริษัทฯ มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน โดยธุรกิจหลักในปัจจุบัน คือ ธุรกิจรถบรรทุกคอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งเพื่อการนำเข้าและส่งออก
“บริษัทฯ มีรถบรรทุกไว้คอยบริการลูกค้าจำนวนกว่า 100 คัน ซึ่งมีทั้งรถบรรทุกจากค่ายญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความความต้องการและเหมาะสมกับการขนส่งสินค้าของลูกค้า โดยรถบรรทุกของบริษัทฯ จะเปลี่ยนรถใหม่ทุก 7 ปี เพราะจะทำให้มีเวลาบริหารงานด้านโลจิสติกส์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยไม่ต้องมาเสียเวลาดูแลเรื่องการจัดหาอะไหล่รถเก่า รวมถึงการหาทีมช่างเพื่อซ่อมรถด้วย และเราจะซ่อมกับศูนย์บริการเพื่อตัดปัญหาดังกล่าวไป สำหรับการเปลี่ยนรถบรรทุกใหม่นั้น จะได้ความน่าเชื่อถือจากลูกค้าด้วย”
สำหรับธุรกิจของบริษัทฯ นั้น แบบออกเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก โดยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามด่านชายแดน คือ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และมีการส่งเข้าไปถึงประเทศจีนด้วย อีกส่วนเป็นธุรกิจทางด้านออนไลน์ เพื่อรองรับตลาดอี-คอมเมิร์ซ แพลทฟอร์ม เนื่องจากระยะหลังธุรกิจค้าออนไลน์ขยายตัวสูงมาก จึงได้พัฒนาบริการขึ้นมารองรับ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ใช้งบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถช่วยประหยัดทั้งเวลา และต้นทุนด้วย นอกจากนี้ รถขนส่งสินค้าทุกคันจะมีระบบ GPS รวมถึงระบบการจัดการของรถ ซึ่งพนักงานขับรถทุกคนจะใช้สมาร์ทโฟน เพื่อส่งงาน และยังสามารถส่งข้อมูลให้ลูกค้าในรูปแบบ Real Time ที่สำคัญยังใช้ Solution จัดการรถที่ใช้ระบบไอทีพิเศษ เพื่อทำให้การหมุนรถมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากเดิมวิ่งรถได้วันละ 1 เที่ยว แต่ปัจจุบันสามารถวิ่งรถได้อย่างน้อยวันละ 2 เที่ยว
“การลงทุนเรื่องไอที จะส่งผลดีในเรื่องความรวดเร็ว ความแม่นยำของเอกสาร และคุณภาพการบริการ รวมถึงการติดตามรถด้วยระบบ GPS การจัดระบบรถด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งทำให้การบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีขึ้น รวมทั้งยังส่งผลดีต่อลูกค้าด้วย เพราะสามารถบริหารจัดการเรื่องเวลา เรื่องต้นทุนให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้จะเป็นระบบเดิมๆ ที่ใช้การจดใส่สมุด ซึ่งจะยุ่งยากมาก แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบไอที สามารถคำนวณได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อต้นทุน เพราะสามารถมองเห็นค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ถ้าตรงไหนมีค่าใช้จ่ายที่สูงก็สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ เพื่อหาวิธีลดต้นทุนดังกล่าว ตรงนี้ช่วยได้เยอะจริงๆ”
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ที เอ็นฯ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ได้วางแผนการดำเนินธุรกิจไว้ 2 รูปแบบ เริ่มจากแผนระยะสั้น บริษัทฯ มีความต้องการเชื่อมการขนส่งระหว่างไทยกับ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ปัจจุบันมีให้บริการแล้ว 9 สาขา ซึ่งจะมีอยู่ตามทุกท่าเรือที่สำคัญ ด่านชายแดน และพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และปีนี้คาดว่า จะขยายสาขาไปยังประเทศเมียนมา และสปป.ลาว อีก 2 แห่ง เพื่อให้การขนส่งให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ส่วนแผนระยะยาวนั้น บริษัทฯ มีความต้องการที่จะขนส่งได้ไกลยิ่งขึ้น โดยใช้ไทยเป็นฮับการขนส่งสินค้า และทางสาขาเป็นตัวเชื่อมในการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน หรือ ยุโรป ซึ่งถ้าถึงวันนั้น การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทยน่าจะไปได้ไกลมากขึ้น และอาจจะเป็นเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์ ที่เป็นฮับของการขนส่งในเอเชียได้อีกแห่งหนึ่ง และเป็นผู้นำในการขนส่ง
“การขนส่งทางบกไปยังต่างประเทศเริ่มบูม เพราะขนส่งได้มากกว่าเครื่องบินและราคาถูกกว่ามากด้วย ถึงแม้ว่าจะแพงกว่าทางเรือแต่ก็เร็วกว่ามากเกือบ 25 วัน เราจึงมีแผนที่จะขยายการขนส่งจากแค่ชาติอาเซียนทะลุไปจีน อินเดีย หรือยุโรปให้ได้ ซึ่งก็มีลูกค้าบางรายที่ส่งสินค้าไปจีนแล้วต่อรถไฟไปยังยุโรป”
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีรายได้จากปี 2560 จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นกว่าปี 2559 ประมาณ 10% และในปี 2561 นี้มีความคาดหวังว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 15% ทั้งนี้ ยังมีแผนจะเพิ่มรถบรรทุกอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปขยายงานยังสาขาต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสาขาที่ประเทศกัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว
‘เปิดใจคนโลจิสติกส์…“จุฑานุช ชุมมานนท์”